วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

มรดกทางพระพุทธศาสนาจังหวัดพะเยา

มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถานและศาสนวัตถุ
            วัดศรีโดมคำ  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับกว๊านพะเยา เริ่มสร้างพระประธานคือ พระเจ้าตนหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ สมัยพระยายี่เมืองครองเมืองพะเยา สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๗  ในเวลาต่อมา ล้านนาได้ถูกพม่ารุกราน ต้องอพยพหนีภัยทิ้งเมืองพะเยาเป็นเมืองร้างประมาณ ๕๖ ปี
            ในปี พ.ศ.๒๓๘๗ พระยาประเทศอุดรทิศได้ครองเมืองพะเยา และต่อมาเจ้าน้อยมหายศได้เป็นเจ้าเมืองพะเยา จึงมีการบูรณะองค์พระประธาน เริ่มก่อสร้างวิหารและเสนาสนะ ต่อมาวิหารหลังเดิมทรุดโทรม ผู้ปกครองพะเยาได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัย มาเป็นประธานการบูรณะ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้รื้อวิหารเดิมลง แล้วสร้างขึ้นใหม่
            ต่อมาวัดศรีโดมคำได้รับพระราชทานยกฐานะเป็นอารามหลวงชั้นตรี (ประเภทสามัญ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ และได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น  เมื่อสร้างเสร็จ ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙
                พระเจ้าตนหลวง  เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา หรือในภาคเหนือ หน้าตักกว้าง ๑๔ เมตร สูง ๑๘.๕๐ เมตร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาแต่สมัยโบราณ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔  ใช้เวลาสร้างนานถึง ๓๓ ปี เป็นพระพุทธรูปที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวพะเยา และประชาชนทั่วไป
                พระพุทธบาทจำลอง  ทำจากหินฐานกว้าง ๙๙ เซนติเมตร ยาว ๑๙๗ เซนติเมตร ส่วนที่เป็นรอยพระพุทธบาท กว้าง ๕๗ เซนติเมตร ยาว ๑๒๙ เซนติเมตร มีลักษณะลวดลายต่าง ๆ เช่น  มหาปุริสลักษณะและอนุพยัญชนะ โดยครบถ้วน สลักเป็นลวดลายสวยงาม จัดเป็นปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในวิหาร รอยพระพุทธบาทนี้พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ จากการรื้อฐานเจดีย์วัดสวยจันทร์ใน เป็นรอยพระพุทธบาทคู่ ลักษณะพระพุทธบาทคือ เอาปลายนิ้วพระบาทขึ้นข้างบน ส้นพระบาทลงล่าง รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายอยู่ทิศใต้ รอยพระพุทธบาทเบื้องขวาอยู่ทิศเหนือ ตั้งห่างกันประมาณสองศอก
                ข้าหลวงประจำจังหวัดพะเยา ได้มอบรอยพระพุทธบาททั้งสองรอยนี้ให้เจ้าคณะเมือง (จังหวัด) วัดหัวข่วงแก้ว โดยสร้างวิหารหลวงคลุมไว้ ต่อมาวิหารหลวงชำรุดหักพังไป ครูบาศรีวิชัยได้มาสร้างวิหารใหญ่สำหรับพระเจ้าตนหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕ ต่อมาครูบาศรีวิชัยก็ได้อัญเชิญรอยพระพุทธบาท มาไว้ที่วัดศรีโคมคำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ โดยสร้างเป็นวิหารครอบรอยพระพุทธบาท เรียกว่า วิหารพระพุทธบาท

           วัดป่าแดงบุนนาค  ตั้งอยู่ในตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองพะเยา พบศิลาจารึกสองหลักในบริเวณวัด จารึกหลักที่ ๑ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๒ เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดพญาร่วง จารึกหลักที่ ๒ จารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๘ กล่าวถึงพระเป็นเจ้าอยู่หัว (พระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์เชียงใหม่) มีราชโองการให้เจ้าเมืองพะเยา สร้างมหามณฑปขึ้นในเมืองพะเยา
            จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับลักษณะแบบแผนขององค์เจดีย์แบบสุโขทัย ทำให้พิจารณาได้ว่าวัดนี้ น่าจะสร้างในสมัยพระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองพิษณุโลก เมื่อครั้งที่ท่านอพยพมาอยู่ที่ล้านนา และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยา เมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑
            ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ
                    - พระเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบสุโขทัย
                    - พระเจดีย์ทรงล้านนา  ที่มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
                    - เนินซากโบราณสถาน  จำนวน ๒๕ แห่ง
                    - ซากแนวกำแพงโบราณสี่แนว

           วัดพระธาตุจอมทอง  ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ อยู่บริเวณกลางเมืองโบราณ เวียงจอมทอง ตามตำนานกล่าวว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงเมืองพะเยา ประทับอยู่ ณ จอมดอย ลูกหนึ่ง ตั้งอยู่ข้างฝั่งหนองเอี้ยงไปทางทิศเหนือ ณ ที่นั้นมีบ้านช่างทองอยู่หลังหนึ่ง ช่างทองได้นำภัตตาหารมาถวายแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทรงเล็งเห็นว่า สถานที่นี้สมควรที่จะตั้งพระพุทธศาสนา จึงประทานพระเกศาธาตุองค์หนึ่ง สำหรับนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำใต้จอมดอย ลึกลงไป ๗๐ วา ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า ดอยจอมทอง
            พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมหนึ่งชั้น ต่อด้วยฐานเขียงย่อมุมสามชั้น ต่อจากนั้นเป็นฐานปัทม์ย่อมุม ต่อด้วยฐานทรงกลมสามชั้น จากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถาทรงกลมสามชั้นรองรับองค์ระฆัง ส่วนบัลลังก์มีย่อมุม ส่วนปล้องไฉนมีปูนปั้นบัวสองชั้นประดับอยู่ที่ฐานและยอดของปล้องไฉน จากนั้นขึ้นไปเป็นปลียอดและฉัตร เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ถือเป็นปูชนียสถานและโบราณสถานที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองพะเยามาแต่โบราณ

           วัดราชคฤห์  ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ มีพระเจดีย์เก่าแก่ของเมืองพะเยา ที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากเจดีย์ล้านนาในจังหวัดพะเยา โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะเชียงแสนตอนต้น
            องค์พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ในชั้นนี้มีเจดีย์รายตั้งอยู่ตรงมุมฐานมุมละองค์ รวมสี่องค์ ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อเกล็ดแปดเหลี่ยม มีย่อมุมสองชั้น มีซุ้มจระนำสี่ทิศ ชั้นบนหรือซุ้มเหนือซุ้มจระนำ มีเจดีย์สี่เหลี่ยมรูปทรงปราสาท อยู่อีกสี่ทิศ อยู่บนฐานเดียวกันกับชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยบัลลังก์ย่อมุม ถัดขึ้นไปเป็นคอเจดีย์ ปล้องไฉนและปลียอด
            ในส่วนลานประทักษิณ ที่รอบเจดีย์มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้าสี่ทิศ แต่ละทิศจะมีปูนปั้นรูปสิงห์ เฝ้าทางเข้าประตูละสองตัว

           วัดหลวงราชสัณฐาน  ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ เดิมเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๗ เจ้าหลวงวงศ์ ร่วมกับชาวบ้านได้บูรณะปฎิสังขรณ์จนแล้วเสร็จ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวง ต่อมาได้มีประชาชนมาประกอบพิธีทางศาสนา และได้ชื่อว่า วัดหลวงราชสัณฐาน
            วิหาร เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนา ที่สวยงามแห่งหนึ่งมีอายุกว่าร้อยปี มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ เขียนลงบนกระดาษสาผ้าแปะอยู่บนผนังไม้ เป็นเรื่องมหาชาติชาดก และพุทธประวัติ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เกิดพายุฝนทำให้วิหารพังทะลายลงมาหมด
            ปัจจุบันทางวัดได้สร้างวิหารขึ้นใหม่ บนฐานวิหารหลังเดิม ตามลักษณะเดิม แล้วนำภาพจิตรกรรมของเดิมมาติดตั้งเป็นบางส่วน

            สำหรับพระเจดีย์ทรงพื้นเมืองล้านนา ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม สามชั้น ต่อด้วยบัวหงาย มีเรือนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นบัวคว่ำบัวหงาย ต่อด้วยฐานเขียงรูปทรงกลมสามชั้น ต่อด้วยมาลัยเถารูปทรงกลม ถัดขึ้นไปเป็นคอระฆังกลม องค์ระฆังรูปแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์แปดเหลี่ยม ปล้องไฉนเป็นปูนปั้นรูปกลีบบัวสองชั้น และปลียอด
           วัดศรีอุโมงค์คำ  ตั้งอยู่ในตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองพะเยา ที่ตั้งของวิหารและพระเจดีย์อยู่บนเนิน ภายในเนินมีอุโมงค์อยู่ข้างใน เดิมเรียกชื่อว่า วัดอุโมงค์ ปัจจุบันเรียกวัดอุโมงค์คำ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสูง ภายในวัดมีวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างอยู่บนฐานเดิม ประดิษฐานพระเจ้าล้านตื้อ หรือหลวงพ่อวัดเมืองเรืองฤทธิ์ และพระเจ้าแข้งคม
            พระเจดีย์เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยมสามชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุ ซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูง เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีซุ้มจระนำอยู่สี่ทิศ ต่อด้วยชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยม เป็นฐานบัวทรงกลมซ้อนกันขึ้นไปสามชั้น รองรับองค์ระฆังทรงกลม ต่อด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน เป็นรูปปั้นรูปกลีบบัวสองชั้น และปลียอด


               พระเจ้าล้านตื้อ  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ เป็นพระประธานในวิหารวัดศรีอุโมงค์คำ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย มีประวัติว่าเจ้าเมืองพะเยาได้อัญเชิญมาจากวัดร้าง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณสนามเวียงแก้ว เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีพุทธลักษณะผสมผสาน ระหว่างศิลปะสุโขทัยและศิลปะพะเยา เป็นฝีมือช่างสกุลพะเยาโดยเฉพาะ ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามองค์หนึ่งในล้านนา
               พระเจ้าแข้งคม  เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุโมงค์คำ หน้าตักกว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๑.๙๐ เมตร การสร้างพระพุทธรูปแบบแข้งคม ที่เกิดขึ้นในล้านนาน่าจะมีที่มาจากพระเจ้าแข้งคม ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้น โดยให้หล่อพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปแบบลงปุระ (พระแข้งคม)  ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีเกิด จังหวัดเชียงใหม่
           วัดพระธาตุแจ้โว้  ตั้งอยู่ในตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ เป็นวัดโบราณที่อยู่ในเขตเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนเนินเขา เรียกว่า เวียงห้าว ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเมือง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตามตำนานกล่าวว่า ผู้สร้างคือ ปู่แจ ย่าโว ได้บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าไว้ในองค์พระธาตุ
            พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปแปดหลี่ยม ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุม จากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถา รองรับองค์ระฆังรูปแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด องค์พระธาตุเจดีย์เป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลียอดของพระธาตุเจดีย์มีบัวกลุ่ม อันเป็นลักษณะเฉพาะที่พบมากในเมืองเชียงแสน ต่อมาครูบาศรีวิชัยได้บูรณะซ่อมแซมพระธาตุ ให้มีสภาพดีขึ้น
           วัดพระธาตุจอมศีล  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอดอกคำใต้ พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขา เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุที่บรรจุพระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่นแถบนี้ เดิมพระธาตุเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างมานาน ต่อมาพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา ร่วมกับพระยาประเทศอุดรทิศ ได้นำชาวบ้านมาบูรณะซ่อมแซม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ในวันมาฆบูชา และวันสงกรานต์
            ลักษณะองค์พระธาตุเจดีย์ ประกอบด้วยฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยม ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุมขึ้นไปถึงชั้นมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังทรงกลมต่อด้วยบัลลังก์ ถัดขึ้นไปมีบัวกลุ่มที่ปล้องไฉน ต่อด้วยปลียอด จะเห็นได้ว่ารูปทรงของพระธาตุเจดีย์คล้ายกับพระเจดีย์วัดลี มีลักษณะเอวคอด และรูปทรงสูง


            วัดพระธาตุศรีปิงเมือง  ตั้งอยู่ในตำบลลอ อำเภอจุน ยังไม่พบหลักฐานว่า พระธาตุศรีปิงเมืองสร้างเมื่อใด เมื่อพิจารณารูปแบบทางสถาปัตยกรรมแล้ว น่าจะสร้างเในช่วงพุทธศตรรษที่ ๒๑ ในช่วงนั้นเมืองพะเยา เป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กับล้านนา พระธาตุตั้งอยู่ใกล้เมืองโบราณที่เรียกว่า เวียงลอเป็นพระธาตุที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเวียงลอ
            องค์พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์ ย่อมุมขึ้นไปเป็นฐานลูกฟักทรงกลม ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถาทรงกลม รองรับองค์ระฆังกลม เป็นศิลปะเชียงใหม่ตอนต้น
            วัดพระธาตุดอยหยวก  ตั้งอยู่ในตำบลปง อำเภอปง ตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ตามตำนานกล่าวว่าในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงดอยภูเติม พญานาคที่รักษาดอยนี้อยู่แลเห็นพระพุทธเจ้า คิดว่าเป็นพญาครุฑก็แทรกกายหนี ต่อมาได้ทราบและฟังธรรมจากพระพุทธองค์ จึงเกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์จึงมอบพระเกศาให้และตรัสกับพระอานนท์ว่า เมื่อตถาคตนิพพานแล้ว ให้เอากระดูกริมตาขวามารวมไว้กับพระเกศา กาลข้างหน้าจะมีชื่อว่า พระธาตุภูเติม  จึงได้บรรจุและสร้างพระธาตุขึ้น ณ ดอยแห่งนี้มีชื่อเรียกใหม่ว่า พระธาตุดอยหยวก
            ภายในวัดมีวิหารพื้นเมืองทรงต่ำแบบพื้นเมืองล้านนา ส่วนพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ต่อด้วยเรือนธาตุซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูง เป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีซุ้มจระนำอยู่สี่ทิศ ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังทรงกลม ขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยปล้องไฉน จนถึงปลียอดเป็นเจดีย์ทรงล้านนาที่สวยงาม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะพะเยา
            วัดลี  ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณรูปน้ำเต้า จากศิลาจารึกกล่าวว่า วัดลีสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๘ โดยพระเจ้าสี่หมื่นพะเยา
            พระเจดีย์มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา เป็นเจดีย์ทรงสูงเอวคอด ฐานกว้าง ๑๖.๕๐ เมตร สูง ๓๕ เมตร ส่วนฐานประกอบด้วยหน้ากระดานสี่เหลี่ยม หนึ่งชั้น ต่อขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมสามชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูง เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นอยู่กลางเรือนธาตุ เป็นลายประจำยามประดับอยู่ และมีการประดับลวดลายปูนปั้น บริเวณมุมของเจดีย์จนถึงบัวหงาย ด้านบนของฐานปัทม์ต่อด้วยชั้นมาลัยเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไปรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม แล้วเป็นชั้นบัลลังก์แปดเหลี่ยม ต่อด้วยคอระฆังกลมขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ที่ฐานและยอดปล้องไฉนมีปูนปั้นกลีบดอกบัว สองชั้น ต่อด้วยปลียอดรูปทรงกลม เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะสวยงามอีกแห่งหนึ่งในพะเยา
            วัดร้างประตูชัย หรือวัดพระเจ้ายั้งย่อง  ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกประตูชัย ในตำบล อำเภอเมือง ฯ สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นวัดที่อยู่ปากทางเข้าเมือง ในสมัยก่อนเมื่อจะยกทัพออกจากเมือง ก็จะออกทางประตูชัยนี้ เพื่อถือเป็นเคล็ดให้รบชนะ โดยจะมีการทำพิธีกรรม และพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นกำลังใจในการสู้รบ
            วัดนี้เดิมมีบริเวณกว้างขวางหลายสิบไร่ มีบ่อน้ำ คูเมืองมีน้ำไหลตลอดปี มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ต่อมาวัดนี้ได้ชื่อใหม่ ตามที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดยั้งย่อง
            วัดนี้สันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นวัดหลวง ที่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองพะเยา พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ อยู่ในวิหาร มีเนินเจดีย์ เนินซากโบราณสถานสองเนิน
            วัดรัตนคูหาวราราม  (วัดบ้านถ้ำ)  ตั้งอยู่ในตำบลถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ทราบแต่เพียงว่าวัดแห่งนี้มีมาก่อนหมู่บ้าน ซึ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ.๑๔๐๐ แล้วมีการบูรณะวัดบ้านถ้ำขึ้นในปี พ.ศ.๑๔๖๐ และตั้งชื่อใหม่ว่า วัดช้างแก้ว วัดนี้ได้ร้างไป ๕๐ ปี แล้วได้มีการบูรณะเจดีย์และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดบ้านถ้ำ ตามเดิม
            พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงซ้อนกันสามชั้น ต่อขึ้นไปเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไปสามชั้น รองรับองค์ระฆังทรงเหลี่ยมเป็นแบบจำปาแปดกลีบ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสกุลช่างพะเยา ด้านบนเป็นปูนปั้นกลีบบัวสองชั้นครอบลงมา ต่อด้วยบัลลังก์แปดเหลี่ยม ปล้องไฉน มีปูนปั้นบัวหงาย รองรับปลียอด นับว่าเป็นเจดีย์ศิลปะปูนปั้นสกุลช่างพะเยา ที่สวยงามแห่งหนึ่ง
            วัดพระธาตุดอยคำ  ตั้งอยู่ในตำบลเจดีย์คำ อำเภอเชียงคำ มีตำนานว่า มีหญิงม่ายคนหนึ่งพบทองคำแท่งใหญ่ วางยาวอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก หันท้ายจรดภูเขา จึงนำชาวบ้านไปดู ต่อมาเมื่อพญาผู้ครองเมืองได้ทราบข่าว ก็มีความโลภ จึงสั่งให้ตัดแท่งทองคำนั้น เมื่อตัดแล้วทองคำก็แยกหายไปในดอย แล้วปรากฎเป็นพระเจดีย์ซึ่งมีพระธาตุบรรจุอยู่ ภายใน ชาวบ้านจึงเรียกวา พระธาตุดอยคำ แต่นั้น

            วัดพระธาตุสบแวน  ตั้งอยู่ในตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ เป็นวัดเก่าแก่ ตามตำนานกล่าวว่า สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๔๔๗ โดยชาวไทลื้อที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงคำ ได้มาสำรวจที่สร้างวัดและพบพระเจดีย์องค์หนึ่งสวยงามมาก แต่ถูกทิ้งไว้รกร้าง จึงได้บูรณะขึ้นใหม่ และตั้งชื่อวัดว่า วัดพระธาตุสบแวน ประจวบกับบริเวณดังกล่าว มีแม่น้ำแวนไหลมาบรรจบกับน้ำฮ่อง ณ ที่นั้น

            วัดแสนเมืองมา  หรือวัดมาง ที่บ้านมาง ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ เป็นวัดเก่าแก่มีอุโบสถที่งดงาม กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน (อุโบสถไทลื้อ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ และได้สร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะของชาวไทยลื้อไว้
            วัดพระธาตุเจดีย์จอมก๊อ  ตั้งอยู่ในตำบลเจริญราษฎร อำเภอแม่ใจ พระธาตุเจดีย์จอมก๊อ เป็นเจดีย์ทรงล้านนาที่สวยงามอีกองค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
            องค์พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ในชั้นนี้มีเจดีย์รายตั้งอยู่ตรงมุมของฐานสี่องค์ ต่อขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปแปดเหลี่ยมสามชั้น จากนั้นเป็นเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยม ต่อด้วยมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังทรงกลม ต่อด้วยคอระฆังกลม ปล้องไฉน และปลียอด
            วัดพระธาตุภูขวาง  ตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอภูกามยาว ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณ เวียงพระธาตุภูขวาง เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุข้อมือขวาของพระพุทธเจ้า
            พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานกระดานสี่เหลี่ยมย่อมุมสี่ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุย่อมุม ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปทรงกลมสามชั้น รองรับองค์ระฆังกลม ไม่มีบัลลังก์ ต่อด้วยคอระฆังทรงกลม ปล้องไฉน ซึ่งมีรูปปั้นเป็นรูปกลีบบัวสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นปลียอด

            วัดศรีสุพรรณ  ตั้งอยุ่ในตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ เป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าทองทิพย์ มีพุทธลักษณะงดงามมาก เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นสาม หล่อด้วยสำริด มีพระพักตร์เป็นเนื้อทองสุกปลั่ง พระศกละเอียด พระเกศเป็นเปลวสวยงาม หน้าตักกว้าง ๒๙ นิ้ว สูง ๒๔ นิ้ว
            จากคำบอกเล่าของชาวบ้านอำเภอแม่ใจ มีความว่า แต่เดิมนั้นบริเวณบ้านแม่ใจ โดยทั่วไปเต็มไปด้วยป่าไม้กอไผ่ขึ้นหนาทึบ และได้เกิดไฟลุกไหม้บริเวณรอบ ๆ ดงไผ่ จึงได้พบพระเจ้าทองทิพย์อยู่ในดงไผ่นั้น ต่อมาจึงได้สร้างอาคารชั่วคราวครอบไว้ ต่อมาชาวอำเภอแม่ใจได้ร่วมกันสร้างวิหารถาวรครอบไว้ ในบริเวณดงกอไผ่ โดยไม่โยกย้ายจากที่เดิมจนถึงปัจจุบัน
            ความเชื่อถือความศักดิ์สิทธิ์และที่มาของชื่อพระเจ้าทองทิพย์นั้น เพราะว่าเมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองแห้งแล้ง หรือชาวบ้านเกิดการเจ็บป่วย เกิดภัยพิบัติ ก็จะอัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์จากอาสนะ ทำพิธีสักการะบูชา แห่สรงน้ำ ฝนก็จะตกลงมาทันที ผู้ประสบเคราะห์กรรมก็จะหมดเคราะห์ พระเจ้าทองทิพย์ จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธตลอดมา
            ในวันที่ ๑๗ เมษายนของทุกปี จะเป็นวันสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ ประชาชนจะพากันมาร่วมพิธีในวันสำคัญนี้มากมาย แล้วนำเอาน้ำที่สรงพระเจ้าทองทิพย์ แล้วใส่ภาชนะกลับไปบ้านเพื่อประพรมลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข
            วัดศรีบุญเรือง  อยู่ในเขตอำเภอแม่ใจ เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์ดำ พระพุทธรูปสำริดมีผิวสีดำ พบโดยพ่อหนานใจวรรณจักร ขณะที่เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม ตำบลศรีก้อย อำเภอแม่ใจ ท่านได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ที่บริเวณบ้านดงอินตา และบ้านดงบุนนาคปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริเวณหนองเล็งทรายทั้งหมด ท่านจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดโพธาราม ต่อมาท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง (วัดขัวตาด) ซึ่งเป็นวัดร้าง พ่อหนานใจ และชาวบ้านได้ร่วมบูรณะซ่อมแซม และอัญเชิญพระเจ้าองค์ดำไปประดิษฐานที่วัดศรีบุญเรืองจนถึงปัจจุบัน
            ในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนเจ็ด (เดือนเก้าเหนือ) ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระเจ้าองค์ดำ มีประชาชนไปร่วมพิธีนี้เป็นจำนวนมาก เชื่อกันว่าในปีใดที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะอัญเชิญพระเจ้าองค์ดำลงจากอาสนะเพื่อทำพิธีขอฝน
            วัดดงบุนนาค  ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าหินทิพย์ พระพุทธรูปหินทราย ฝีมือช่างพะเยา หน้าตักกว้าง ๗๒ นิ้ว สูง ๙๙ นิ้ว ศิลปะเชียงแสนรุ่นที่สอง
            จากประวัติที่ผู้รู้ให้ไว้มีว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๑๐  แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดก๋อมก๊อ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านดงบุนนาค ปัจจุบันสภาพที่พบเห็นก่อนนั้นมีแต่องค์พระตั้งอยู่บนแท่นกลางแจ้ง เพราะเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างหักพังสูญหายไปหมด
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ทางวัดดงบุนนาค อำเภอและชาวบ้านได้อัญเชิญพระเจ้าหินทิพย์มาประดิษฐานที่วัดดงบุนนาค
            พระเจ้านั่งดิน  อยู่ในอำเภอเชียงคำ ตามตำนานเล่าว่า พญาผู้ครองเมืองพุทธรสะได้ค้นพบประวัติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกโปรดสัตว์ เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงเวียงพุทธรสะ (อำเภอเชียงคำ) พระพุทธองค์ได้เสด็จประทับอยู่บนยอดดอยสิงห์กุตตะ (พระธาตุดอยคำ)  พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งพญาคำแดง เจ้าเมืองพุทธรสะ ให้สร้างรูปเหมือนพระองค์ไว้ ณ เมืองพุทธรสะนี้ ปรากฏว่า พระอินทร์ พญานาค ฤาษีสองตน พระอรหันต์สี่รูป ช่วยกันเนรมิตเอาดินศักดิ์สิทธิ์ จากเมืองลังกาทวีปมาสร้างรูปเหมือนพระพุทธองค์ ใช้เวลาสร้างหนึ่งเดือน เจ็ดวัน จึงแล้วเสร็จ
            พระเจ้านั่งดินไม่ได้ประทับบนฐานชุกชีเหมือนกับพระพุทธรูปในอุโบสถวัดอื่น ๆ  มีผู้เล่าว่าเคยมีชาวบ้านสร้างฐานชุกชี แล้วอัญเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประทับ แต่มีเหตุปาฏิหาริย์ฟ้าผ่าลงมาที่อุโบสถถึงสามครั้ง พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนาลงมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมจนถึงทุกวันนี้
            พระเจ้าหิน (พระเจ้าบุนนาค)  เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุนนาค ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ หน้าตักกว้าง ๑.๖๒ เมตร สูง ๒.๖๔ เมตร องค์พระมีลักษณะสวยงามมาก ได้มาจากวัดร้างในเวียงลอ อำเภอจุน
            หลักฐานด้านโบราณคดีได้พบจารึกหมื่นลอมงคล ตรงกับปี พ.ศ.๒๐๔๓ ที่กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์และพระพุทธรูปจำนวนมากเพื่ออุทิศให้กับพระศาสนา
            พระเจ้าหินเป็นพระพุทธรูปที่ชาวเชียงคำและใกล้เคียงเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ได้มีการจัดงานประเพณีนมัสการพระเจ้าหินเป็นประจำทุกปีในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม (เดือนห้าเหนือ) ตรงกับวันมาฆบูชา
            พระเจ้ายั้งยอง  เป็นพระพุทธรูปหินทราย หน้าตักกว้าง ๒.๐๐ เมตร สูง ๓.๒๒ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างประตูชัย หรือวัดพระเจ้ายั้งยอง ตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ
            พระเจ้ายั้งยองเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ประทับนั่งขัดสมาธิราบแบบปัทมาสนะ ปางมารวิชัย ศิลปะช่างสกุลพะเยา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับเมืองพะเยามาแต่โบราณ ประดิษฐานอยู่ใกล้ประตูชัยสมัยก่อน เมื่อจะออกไปปราบข้าศึกศัตรู จะต้องยกกำลังออกทางประตูชัย จะมีการตั้งเครื่องสักการะบูชาพระเจ้ายั้งยองเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จการรบแล้วก็จะมาสักการะพระเจ้ายั้งยองอีกครั้ง เพราะก่อนเข้าเมืองจะต้องเข้าทางประตูชัย

            พระพุทธรูปหินทราย ที่วัดร้างวิสุทธาราม  เป็นพระพุทธรูปหินปางมารวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองพะเยา สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๒ มีจารึกที่พบบริเวณวัด กล่าวถึงชื่อวัดวิสุทธาราม สร้างในปี พ.ศ.๒๐๔๒ สมเด็จมหาสวามีศรีวิมลโพธิญาณ เจ้าอาวาสวัดป่าแดง ขออนุญาตพระมหาธรรมราชาธิราช ฝังจารึกไว้ในวัดวิสุทธาราม เมืองพะเยา  พระเจ้าทั้งสองพระองค์ (พระเมืองแก้วกับพระชนนี) อนุญาตและให้แสนญาณ เจ้าเมืองพะเยาถวายคนเป็นข้า พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่ ยากต่อการเคลื่อนย้ายและเป็นประธานของวัดมาแต่เดิม

            วิหารไม้สักวัดอนันตาราม  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงคำ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ แทนวิหารหลังเก่าที่มุงด้วยหญ้าคา สถาปัตยกรรมวิหารเป็นรูปทรงแบบไทยใหญ่ หลังคามุงจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงาม มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) เพดานภายในตกแต่งประดับด้วยกระจกสี มีเสาไม้สักทองลงรักปิดทองทั้งสิ้น ๖๘ ต้น ค่าก่อสร้างประมาณ ๔๕,๐๐๐ บาท ผู้ออกแบบและทำการก่อสร้างคือสล่าตัน ช่างชาวไทยใหญ่ โดยมีพ่อเฒ่านันตา (อู๋) เป็นเจ้าภาพในการสร้าง

            วิหารไทลื้อ วัดท่าฟ้าใต้  ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงม่วน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นสถาปัตยกรรมไทลื้อ ก่ออิฐถือปูน หลังคามีสามชั้นมุงด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) ชั้นที่หนึ่งเป็นแบบปั้นหญา ครอบตัววิหารทั้งสี่ด้าน ชั้นที่สองและสามเป็นทรงแบบปราสาท มีหน้าปันทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีหลังคากันสาดรับทั้งสองด้าน ตัววิหารทึบ บานประตูเป็นบานไม้สัก
            กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔

มรดกทางธรรมชาติจังหวัดพะเยา

มรดกทางธรรมชาติ
ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำสำคัญ
            กว๊านพะเยา  เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นอันดับสามของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒,๘๐๐ ไร่ เกิดจากลำน้ำหลายสายในเขตอำเภอแม่ใจ และเทือกเขาด้านทิศตะวันตกไหลมารวมลงสู่กว๊านพะเยา ฉากหลังของกว๊านพะเยาคือ ดอยหลวง และดอยหนอก
            กว๊านพะเยา ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด ผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการอุปโภคและบริโภค และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของภาคเหนือ รอบ ๆ กว๊านพะเยาจะมีหมู่บ้านและวัดวาอารามตั้งอยู่เป็นจุด ๆ แลเห็นยอดเจดีย์ วิหาร โบสถ์ ตั้งอยู่เรียงราย ในยามที่ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า หรือยามเย็นที่ดวงอาทิตย์ลับลงจากยอดเขา ฝั่งตรงกันข้ามจะสาดแสงสีแดง กระทบกับยอดเจดีย์ ช่อฟ้า ใบระกา ของบรรดาโบสถ์ วิหาร สะท้อนเป็นประกายระยิบระยับ ในเวลากลางคืน แสงไฟจากริมฝั่งผสมกับแสงจันทร์ส่องไปกระทบผิวน้ำ ที่มีระลอกคลื่นเกิดเป็นภาพที่สวยงามจับตา เป็นที่ตรึงตาตรึงใจแก่ผู้ที่ได้มาพบเห็น จนองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้พะเยา เป็นเมืองที่น่าอยู่เมืองหนึ่งของโลก
            หนองเล็งทราย  เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติบนที่ราบสูง ระหว่างภูเขาสองเทือกคือ ทางด้านทิศตะวันออกมีเทือกเขาดอยหัวโล้น (ดอยด้วน)  ดอยจำม่วง  ด้านทิศตะวันตกมีดอยผีปันน้ำและดอยหลวง เป็นต้นน้ำลำธาร แล้วไหลลงมายังที่ราบลุ่มระหว่างภูเขาทั้งสอง เกิดเป็นหนองเล็งทราย มีพื้นที่ประมาณ ๕,๕๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอแม่ใจคือตำบลป่าแฝก ตำบลเจริญราษฎร์ ตำบลศรีก้อย ตำบลแม่ใจ ตำบลบ้านเหล่า เป็นต้น ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ได้อาศัยแหล่งน้ำแห่งนี้เพื่อการเพาะปลูก ทำการประมง เลี้ยงสัตว์ ใช้อุปโภคและบริโภค นอกจากนั้นยังใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย
            แม่น้ำอิง ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในเขตอำเภอแม่ใจ เป็นร่องลำห้วยขึ้นไปบรรจบกับแม่น้ำวัง ในเขตอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง  บริเวณตรงกลางยอดสันเขาที่ต้นน้ำจากกันเรียกว่า ดอยผีปันน้ำ  ลำห้วยที่ไหลมาจากอำเภอแม่ใจเรียกว่า ห้วยเอี้ยง ไหลผ่านหมู่บ้านแม่ใจลงสู่หนองเล็งทราย ผ่านทุ่งนาแม่ใจ บ้านยืม บ้านใหม่ บ้านต้ำ ลงสู่กว๊านพะเยาแล้วไหลไประหว่างเขตอำเภอดอกคำใต้ อำเภอขุน อำเภอเท่งและอำเภอเชียงของ ไปบรรจบแม่น้ำโขง
            แม่น้ำอิงมีร่องน้ำธรรมชาติแยกออกไปสองสายคือ
                ห้วยร่องทง  แยกจากแม่น้ำอิงที่บ้านกว๊าน ตำบลคงเจน แล้วไหลผ่านเขตตำบลแม่อิง เป็นระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำในฤดูฝนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ในฤดูแล้งประมาณ ๓๐๐ ไร่
                ห้วยร่องเตี้ย  แยกจากแม่น้ำอิงที่บ้านแม่อิงหลวง ตำบลแม่อิง แล้วไหลไปบรรจบห้วยร่องทงในเขตตำบลคงเจน เป็นระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร  มีพื้นที่รับน้ำในฤดูฝนได้ประมาณ ๔๐๐ ไร่  ในฤดูแล้งประมาณ ๑๐๐ ไร่
            แม่น้ำยม  ต้นน้ำเกิดจากดอยภูลังกาในทิวเขาผีปันน้ำ แล้วไหลลงทางใต้ โดยเกิดจากแม่น้ำอิมกับแม่น้ำควร ทั้งสองสายไหลมาบรรจบกันที่บ้านบุญยืน อำเภอปง จากนั้นไหลไปบรรจบแม่น้ำน่านที่ตำบลเกยชัย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีความยาวประมาณ ๕๕๐ กิโลเมตร
            แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของประเทศ ชื่อแม่น้ำยมมาจากเมืองบางยมที่ลำน้ำยมไหลผ่าน เมืองนี้สร้างก่อนเมืองสุโขทัย เป็นเมืองคู่กับเมืองทุ่งผึ้งในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ปัจจุบันเป็นเมืองร้างเนื่องจากสายน้ำเปลี่ยนทางเดิน
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
            ดอยผาจิ  อยู่ในตำบลขุนควร อำเภอปง ห่างจากตัวอำเภอปงประมาณ ๓๙ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนภูเขาที่สูงสลับซับซ้อน มีทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ และวัฒนธรรมชาวเขาที่น่าสนใจ
            ในอดีตสมัยหนึ่ง ดอยผาจิเคยเป็นที่ตั้งขุมกำลังของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยอาศัยภูมิประเทศที่เป็นถ้ำใหญ่บนยอดเขาสูงและสภาพป่าทึบ เป็นฐานกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล ต่อมาภายหลัง กองทัพภาคที่ ๓ ได้เข้าไปจัดตั้งเป็นหมู่บ้านสันติสุข และหมู่บ้านฉลองกรุง ทำให้ชาวบ้านตระหนักในความเป็นไทย และกลับมาเป็นฝ่ายรัฐบาล
            ปัจจุบันดอยผาจิยังคงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ และหากได้รับการปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็จะเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

            ฝั่งต้า  อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านไชยสถาน ห่างจากตัวอำเภอเชียงม่วนประมาณ ๕ กิโลเมตร มีลักษณะเป็นดินที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำตามธรรมชาติ คล้ายกับภูเขาที่ถูกน้ำเซาะหายไปครึ่งหนึ่ง ทำให้มีรูปร่างเป็นภูเขาครึ่งซีกที่สวยงาม
            ตาดปู่เข่ง  ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูบาง อำเภอเชียงม่วน ประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นชั้นหนึ่งของน้ำตก มีลักษณะเป็นลานหินราบ พื้นที่ประมาณสองไร่เศษ อยู่กลางลำน้ำแม่ปั๋ง เหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่พักผ่อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงเวลาที่นกยูงลงฝูง นอกจากนี้ยังมีทิวทัศน์ที่สวยงามเงียบสงบ สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ทางอุทยาน ฯ มีบ้านพักรับรองไว้บริการ มีเจ้าหน้าที่พาไปชมนกยูงลงฝูง
            เหมืองแร่ถ่านหินบ้านสระ  อยู่ในตำบลบ้านสระ อำเภอเชียงม่วน ได้มีการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
            แหล่งถ่านหินบ้านสระ มีลักษณะการวางตัวในแนวเหนือใต้ ยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร บริเวณพื้นที่มีความสูง ๒๔๐ - ๒๘๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงทั้งสามด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออกเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ ความสูงประมาณ ๒๘๐ - ๓๐๐ เมตร มีลำน้ำยมไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่

มรดกทางวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา

มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
            เมืองพะเยามีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือพื้นที่ชุมชนอยู่ในหุบเขา ประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญ ก็จะมีการสร้างคูคันดิน หรือกำแพงล้อมรอบเรียกว่า เวียง จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบเวียงโบราณอยู่ในพะเยาหลายแห่ง
            แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์  ส่วนใหญ่ได้มาจากหลักฐานในเอกสาร พงศาวดาร ตำนาน หลักฐานทางโบราณคดี และศิลาจารึก
            จากสภาพภูมิประเทศซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขา มีลำน้ำอิงไหลผ่าน และจากการสำรวจพบขวานหินขัดทั้งขนาดเล็ก - ใหญ่ ทั้งแบบมีบ่า และไม่มีบ่า สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่ในเขตพะเยานี้เดิมเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
            จากการศึกษาทางโบราณคดี พบเวียงโบราณอยู่ในพะเยาหลายแห่ง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่มากมาย ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (ก่อนปี พ.ศ.๑๘๐๐) พวกที่ตั้งถิ่นฐานบนที่สูงกับพวกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่ราบยังนับถือผีอยู่ ยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ หลังจากนั้นได้มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก เชื่อมโยงหล่อหลอมให้ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ให้เป็นพวกเดียวกันเกิดเป็นบ้านเมืองขนาดเล็ก ๆ ขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่ม แล้วพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่เรียกว่า พยาว หรือ พะเยา เป็นศูนย์กลางการปกครองในภูมิภาคแถบนี้
            เมืองพะเยาเป็นเมืองขนาดใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวาง ประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยจำนวนมาก แบ่งออกเป็นพันนาต่าง ๆ ได้ ๓๖ พันนา  ขอบเขตแต่ละพันนามีลักษณะคล้ายตำบลในปัจจุบัน
                เมืองโบราณศูนย์กลางเมืองพะเยา  บริเวณนี้ปรากฏร่องรอยเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบอยู่ห้าเมืองคือ
                    เวียงพะเยา  คือตัวเมืองพะเยาปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของกว๊านพะเยา  จากพงศาวดารโยนกกล่าวว่าเมืองพะเยาสร้างสมัยขุนจอมธรรม เจ้าเมืองคนแรกของเมืองพะเยา เมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๙ ส่วนกษัตริย์ที่ครองเมืองพะเยาสมัยแรกคือ พญางำเมือง                     ภายในเมืองพะเยามี ๑๘ วัด เคยเป็นวัดร้างมาก่อน บางวัดได้มีการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังเป็นวัดร้างอยู่ ๑๑ วัด                     เวียงท่าทองหรือเวียงประตูชัย  ตั้งอยู่ห่างจากเวียงพะเยาไปทางทิศตะวันออก ที่บ้านประตูชัย ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ ฝั่งเมืองวางตัวในแนวตะวันออก - ตะวันตก ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร  ด้านตะวันออกเฉียงเหนือกว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ด้านตะวันตกเฉียงใต้กว้างประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร คูเมืองขุดเป็นแนวโอบล้อมเนินสูงสามแห่ง จึงมีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้า                     เวียงท่าทองสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตรงกับสมัยพญาติโลกราชและพระเมืองแก้วครองอาณาจักรล้านนา และพญายุทธิษฐิระครองเมืองพะเยา
                    เวียงปู่ล่าม  ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเวียงท่าทองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่บ้านศาลา ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ  เป็นเมืองโบราณประเภทคูเมืองชั้นเดียว มีคันดินขนาบสองข้าง ผังเมืองเป็นรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๘๐ เมตร ตั้งอยู่บนเนินเขาไม่สูงนัก
                    เดิมภายในเวียงปู่ล่ามมีซากโบราณสถานอยู่มากมาย พบศิลาจารึกที่วัดอารามป่าน้อย กล่าวว่าวัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๗  พบภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาในล้านนา และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
                    เวียงหนองหวี หรือเวียงแก้ว หรือเวียงบ้านศาลา  ตั้งอยู่ห่างจากเวียงปู่ล่าม มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บ้านหนองหวี ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ  เป็นเมืองโบราณประเภทคูเมืองชั้นเดียว มีคันดินขนาบสองข้าง รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า แนวคูน้ำคันดินด้านทิศเหนือยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร  ด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๔๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร                     ภายในเวียงหนองหวีไม่เหลือซากโบราณสถาน พบเพียงเศษภาชนะดินเผามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองแฝดกับเวียงปู่ล่าม                     เวียงพระธาตุจอมทอง  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ทางทิศเหนือของเวียงพะเยา ตั้งอยู่ที่บ้านแท่นดอกไม้ ตำบลต๋อมคง อำเภอเมือง ฯ มีคูเมืองหนึ่งชั้นขนาบด้วยคันดินสองข้าง คูเมืองล้อมรอบเนินเขาลูกเตี้ย ๆ รูปวงรี ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร                     ภายในเวียงมีพระธาตุจอมทอง  ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเวียง เป็นเวียงพระธาตุประจำพะเยาเช่นเดียวกับเมืองต่าง ๆ หลายเมืองในล้านนาที่มีเวียงพระธาตุอยู่ด้วย การขุดคูคันดินล้อมรอบพระธาตุ คงเนื่องมาจากคตินทีสีมาที่แพร่หลายทั่วไปในล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ 
                เมืองโบราณตามพันนาต่าง ๆ  ชุมชนตามพันนา มีลักษณะเป็นเพียงหมู่บ้าน จึงไม่จำเป็นต้องขุดคูคันดินล้อมเป็นเวียง แต่บางแห่งก็มีคล้ายเวียง                     เวียงต๋อมคง  อยู่ที่บ้านต๋อมคง ตำบลต๋อมคง อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา ห่างจากเวียงพระธาตุจอมทองมาทางตะวันตกประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณ ประเภทคูสองชั้น คันดินสามชั้น วางตัวตามแนวเหนือ - ใต้ แบ่งเป็นสองเวียง มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ มีการขุดคูคันดินล้อมรอบเป็นสองส่วน อยู่ติดกันเรียกว่า เวียงหนึ่ง และเวียงสอง                     เวียงเป็นรูปไม่สม่ำเสมอเพราะขาดคูน้ำคันดินล้อมไปตามรูปร่างของเนินเขา เวียงหนึ่งยาวประมาณ ๖๘๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเวียงสอง เวียงสองยาวประมาณ  ๓๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร                     ภายในเวียงต๋อมไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ พบโบราณวัตถุเป็นเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง พบแนวคันดินโบราณคล้ายถนนเชื่อมกับเวียงพระธาตุจอมมทอง                     เวียงโบราณบนดอยม่อนแจ๊ะ  ตั้งอยู่บนยอดดอยม่อนแจ๊ะใกล้กับดอยบุษราคัม (วัดอนาลโย) ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง ฯ ห่างจากเวียงต๋อม ลงมาทางใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา มีคูน้ำคันดินหลายชั้น ในคูไม่มีร่องรอยการเก็บน้ำ กว้างประมาณ ๕ เมตร ไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ และไม่มีร่องรอยการอยู่อาศัยในสมัยโบราณ                     ลักษณะของเวียง แสดงว่าใช้ประโยชน์ในการป้องกันตัวในยามศึกสงคราม                     เวียงโบราณที่บ้านเหยี่ยน  ตั้งอยู่ที่บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง อยู่ห่างจากเวียงพะเยา มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ตัวเวียงตั้งอยู่บนเนินเตี้ย ๆ มีคูน้ำคันดินค่อนข้างซับซ้อน คูกว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีคันดินขนาบสองข้าง ภายในตัวเวียงมีวัดร้างอยู่แห่งหนึ่ง พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่บาง บริเวณด้านนอกเวียง มีวัดร้างอยู่หลายแห่ง พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายและเศษภาชนะดินเผา เครื่องเคลือบของเตาในล้านนาได้แก่ แหล่งเตาพาน เตาเวียงกาหลง และเตาพะเยา เวียงนี้คงมีการอยู่อาศัยทั้งในเวียงและนอกเวียง                     พบศิลาจารึกบริเวณเวียงนี้สามแผ่น ปรากฎคำว่าเวียงปู่พระ อาจเป็นชื่อของเวียงนี้ก็ได้                     เวียงโบราณที่บ้านห้วยหม้อ  ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยหม้อ ตำบลตุ่ม อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา ห่างจากเวียงต๋อมดงลงมาทางใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร และห่างจากเวียงพะเยาไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๖ กิโลเมตร ตัวเวียงเป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ มีคูน้ำชั้นเดียว กว้างประมาณ ๖ เมตร มีคันดินขนาบทั้งสองข้าง พื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ภายในเวียงมีเจดีย์ร้างอยู่หนึ่งแห่ง พบพระพุทธรูปหินทรายทรงเครื่องสององค์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ พบเศษภาชนะดินเผาผลิตจากแหล่งเตาเวียงกาหลง เตาพาน และเตาสันกำแพง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑                     เวียงบัวหรือเวียงก๋า  ตั้งอยู่ที่บ้านบัว ตำบลแม่กา อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางทิศใต้ของพะเยา ห่างจากเวียงพะเยาประมาณ ๑๔ กิโลเมตร อยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ มีคูคันดินล้อมรอบ แบ่งออกเป็นสองเวียงอยู่ใกล้กันคือ เวียงบัวหนึ่ง รูปร่างคล้ายรูปใบโพธิ์ ตัวเวียงกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร คูเวียงด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือมีชั้นเดียว กว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีคันดินขนาบสองข้าง ประมาณ ๖ เมตร ด้านนอกกว้างประมาณ ๕ เมตร คูเวียงด้านทิศใต้มีคูสองชั้น มีคันดินอยู่ตรงกลาง เวียงบัวสอง รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวเหนือ - ใต้ กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร มีคูสองชั้น คันดินสามชั้น คูด้านในกว้างประมาณ ๑๑ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๘ เมตร คูชั้นนอกกว้างประมาณ ๗ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๔ เมตร ระหว่างคูมีคันดินคั่น                     ในเขตเวียงไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ พบเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพะเยา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ห่างจากเวียงบัวไปทางใต้ ประมาณ ๒ กิโลเมตร พบแหล่งเตาเผา ภาชนะดินเผา เขาม่อนออม แต่ไม่พบเตาเผา                     เวียงฮางหรือเวียงพระธาตุแจ้โว้  ตั้งอยู่ที่บ้านปาง ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงบัว ห่างออกไปประมาณ ๗ กิโลเมตร และห่างจากเวียงท่าวังทองมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๑๗ กิโลเมตร ที่ตั้งเป็นเนินเขาโดด ๆ ค่อนข้างสูง เป็นที่ตั้งของพระธาตุแจ้โว คูคันดินขุดตามภูมิประะทศ ผังเมืองวางในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก กว้างประมาณ ๙๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร มีคูชั้นเดียว คันดินขนาบสองข้าง คูกว้างประมาณ ๑๙ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๕ เมตร ตอนกลางเวียงมีคูน้ำคันดินผ่ากลาง เชื่อมต่อระหว่างคูเวียงด้านเหนือกับด้านใต้ กว้างประมาณ ๑๖ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๘ เมตร มีห้วยร่องขุยไหลผ่านทางทิศตะวันออก                     ภายในเวียงมีโบราณสถานสองแห่งคือวัดพระธาตุแจ้โว้ ตั้งอยู่บนยอดเนิน มีเจดีย์ทรงล้านนาหนึ่งองค์คือพระธาตุแจ้โว้ พระพุทธรูปหินทรายที่พบ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑                     โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้คูคันดินด้านเหนือ เป็นซากวัดร้างขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเจดีย์และวิหาร พบเครื่องใช้แกะสลักจากหินทราย เศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาล้านนาและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑                    เวียงโบราณพระธาตุภูขวาง  ตั้งอยู่ที่บ้านพระธาตุภูขวาง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง ฯ ยังไม่มีการสำรวจ                     เวียงโบราณที่บ้านดงอินตา  ตั้งอยู่ที่บ้านดงอินตา ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ มีคูคันดินล้อมรอบ พื้นที่เป็นรูปวงกลม มีประตูทั้งสี่ด้าน                    เวียงลอ  ตั้งอยู่ที่บ้านลอ ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบมีผังเป็นรูปสี่หลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๕๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๗๐ เมตร พบซากโบราณสถานประมาณ ๗๐ แห่ง                     บริเวณเวียง ปรากฎหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์คือ เครื่องมือหินกะเทาะ ตุ้มถ่วงแห แวดินเผา ภาชนะเนื้อดินธรรมดา ส่วนโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาแหล่งเตาพะเยา เครื่องถ้วยจีน และพระพุทธรูป                     เวียงโบราณที่บ้านฝั่งหมิน  ตั้งอยู่ที่บ้านฝั่งหมิน ตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงโบราณบ้านจุนหลวง  ตั้งอยู่ที่บ้านจุนหลวง ตำบลจุน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปวงกลม ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงโบราณบ้านร่องคู  ตั้งอยู่ที่บ้านร่องคู ตำบลจุน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ อยู่ใกล้เวียงโบราณ บ้านจุนหลวง ยังไม่มีการสำรวจศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงโบราณบ้านร่องอ้อย  ตั้งอยู่ที่บ้านร่องอ้อย ตำบลงิม อำเภอปง มีคูน้ำล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงโบราณบ้านดง  ตั้งอยู่ที่บ้านดง ตำบลงิม อำเภอปง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงโบราณวัดนั่งดิน  ตั้งอยู่ที่บ้านพระนั่งดิน ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงวุ่น  ตั้งอยู่ที่บ้านวุ่น ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเมืองคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก คูน้ำสองชั้น คันดินสามชั้น ล้อมเนินเขา สามเนิน พื้นที่เมืองแคบและยาว                     เวียงโบราณบ้านร้องเชียงแร้ง (๒)  ตั้งอยู่ที่บ้านร้องเชียง ตำบลเชียงแร้ง กิ่งอำเภอภูซาง  มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงโบราณบ้านปางงัว  ตั้งอยู่ที่บ้านปางงัว ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด                     เวียงแก  ตั้งอยู่ที่บ้านแกใหม่ ตำบลภูซาง กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมบน ด้านไม่เท่า คูน้ำคันดินด้านทิศเหนือ ยาวประมาณ ๕๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๔๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันตกติดกับเวียงแก ๒    ยาวประมาณ ๓๗๕ เมตร                         - เวียงแก ๑  อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงแก ๒  มีคูเมืองด้านทิศตะวันตกของเวียงแก ๑  และคูเมืองด้านทิศตะวันออกของเวียงแก ๒ ติดต่อกัน แต่แยกออกจากกันไม่ได้ใช้คูเมืองร่วมกัน                         เวียงแก ๑  และเวียงแก ๒  มีลักษณะเป็นเมืองแฝด  เวียงแก ๑ ตั้งอยู่บนเนินค่อนข้างสูง มีขนาดเล็ก ไม่พบซากโบราณสถาน พบโบราณวัตถุน้อยมาก มีเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๑                         - เวียงแก ๒  มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ กว้างประมาณ ๖๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ด้านทิศเหนือมีลำน้ำเปือยไหลผ่าน และใช้เป็นส่วนหนึ่งของคูน้ำคันดิน พบซากโบราณสถานสองแห่งทางทิศเหนือ มีเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากจากแหล่งเตาในล้านนา และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง                     เวียงแจ๊ะ  ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตาด ตำบลศรีถ้วย อำเภอแม่ใจ เป็นเวียงที่พบใหม่ มีคูคันดิน มีซากเจดีย์ที่สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่


แถบทอไทลื้อเชียงคำ สู่ชุดครุยบัณฑิต ม.พะเยา

 "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน"ที่สร้างเอกลักษณ์สร้างงาน เพิ่มรายได้ชุมชนอย่างดี ศ.ดร.มณฑลสงวนเสริมศรี อธิการบดี มพ.กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชุมชน และการจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้มหาวิทยาลัยจะต้องเข้าไปช่วยทางมพ.จึงมีนโยบายให้ทุกคณะลงพื้นที่ในแต่ละอำเภอหมู่บ้าน ตำบลเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะทำให้ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยส่งนักวิจัย นักศึกษาของมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆเพื่อช่วยชาวบ้านคิด แก้ปัญหาและต่อยอดความรู้เกิดเป็นการสร้างงานและรายได้

มหาวิทยาลัยพะเยา จึงมีแนวคิดนำภูมปัญญาการทอผ้าซิ่นไทลื้อ มาประแถบผ้าบนชุดครุยบัณฑิต เพื่อ สร้างงานสร้างรายได้สร้างความเข้มเเข็งให้ชุมชน ณ บ้านทุ่งอก อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ลักษณะครุยจะเป็นแนวๆ เดียวกับ มช. มก. มม. ฯลฯ มีแถบสีม่วง-เหลืองที่เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยพาดหน้าอก ปลายแขนสีม่วงขริบด้วยไหมสีทองลักษณะพิเศษของครุยมีแถบผ้าทอสีม่วงทองที่หน้าอก 
ลายผ้าทอม่วงทองเอกลักษณ์ ลายไทลื้อ
ชุดที่จะใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจริง ซึ่งรหัส 51 จะใช้เป็นรุ่นแรกนั้น จะใช้ "สีของภู่" ที่อยู่ระหว่าง
แถบผ้าด้านหน้า

เป็นการบ่งบอกว่าอยู่คณะไหน เช่น - สีเขียว คือ คณะเกษตรศาสตร์ 

- สีเหลืองทอง คือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น



ราคาค่อนข้างแพง 

บวกกับแถบแพรด้านหน้านั้น จะต้องสั่งทอมือจากชาวบ้าน อ.เชียงคำ จ.พะเยา (ลายผ้าทอแบบไทลื้อ)


ทอด้วยมือและใช้ดิ้นทองประกอบ มหาวิทยาลัยรับมาจากชาวบ้าน  ทำให้ราคาค่อนข้างสูง

มหาวิทยาลัยพะเยา .... สิ่งดีๆ ที่มีอยู่หลังดอย

มหาวิทยาลัยพะเยา (อังกฤษUniversity of Phayao; ย่อ: มพ / UP) 

เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ตั้งอยู่ในจังหวัดพะเยา เดิมเป็นวิทยาเขตในสังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อมา มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จึงถือได้ว่ามหาวิทยาลัยพะเยาได้แยกออกจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศอย่างเต็มรูปแบบมหาวิทยาลัยพะเยา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ประมาณ 5,700 ไร่
ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยพะเยา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
  1. กรอบพื้นหลังสีม่วง รูปร่างอ้างอิงมากจากหลักศิลาจารึกโบราณที่ค้นพบในเมืองพะเยา แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของศาสตร์ต่างๆ ในเมืองพะเยาที่มีแต่โบราณ
  1. สัตตภัณฑ์ เชิงเทียน 7 ยอด สำหรับจุดบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนเริ่มประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เปรียบเสมือนเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ชั้น ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุใจกลางจักรวาล ที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประทับของพระอินทร์ และประดิษฐานเจดีย์พระเกศ พระเขี้ยวแก้วของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ เปรียบดังพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางจักรวาล อีกนัยหนึ่งยังหมายถึงการสำเร็จโพชฌงค์ 7 อันเป็นธรรมะสำคัญสู่การบรรลุธรรมขั้นสูงสุด รวมความแล้วเปรียบได้กับภูมิประเทศของมหาวิทยาลัยพะเยาที่เป็นดั่งดินแดนสวรรค์ แวดล้อมไปด้วยทิวเขาเป็นชั้นๆเป็นดินแดนแห่งความสุข และเป็นศูนย์รวมแห่งปัญญาความรู้
  1. อักษรย่อ มพ. อ้างอิงมาจากตัวอักษรฝักขามล้านนาที่จารึกลงบนแผ่นศิลาจารึกที่ค้นพบในเมืองพะเยาUP_logo.jpg (195×243)
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพะเยา ประกอบไปด้วยหน่วยงานวิชาการ จำนวน 14 คณะ 3 วิทยาลัย 1 โรงเรียน 1 วิทยาเขต และ 2 โครงการจัดตั้งคณะ เปิดสอนมากกว่า 74 สาขาวิชา ดังนี้
  1. คณะ
    • คณะแพทยศาสตร์
    • คณะพยาบาลศาสตร์
    • คณะเภสัชศาสตร์
    • คณะทันตแพทยศาสตร์
    • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
    • คณะสหเวชศาสตร์
    • คณะวิทยาศาสตร์
    • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    • คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ
    • คณะวิศวกรรมศาสตร์
    • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
    • คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์
    • คณะนิติศาสตร์
    • คณะศิลปศาสตร์
    • โครงการจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์
    • โครงการจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์
    • ชีวิตในมหาวิทยาลัย

      มหาวิทยาลัยพะเยา มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อบริการนิสิตภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังนี้
      • การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย
      มหาวิทยาลัยจัดรถบัสโดยสารพลังงาน NGV ฟรี เดินทางโดยรอบมหาวิทยาลัย รถออกระยะห่างประมาณ 5 นาทีต่อเที่ยว บริการตั้งแต่เวลา 7:00 น. - 21:00 น. ไม่มีวันหยุด โดยมีจุดรับส่งเส้นทางตั้งแต่ หน้ามหาวิทยาลัยจนถึงหอพักนิสิตในกำกับมหาวิทยาลัย(UP DORM) ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร
      • สิ่งอำนวยความสะดวก
      ร้านมินิมาร์ท โรงอาหาร พื้นที่สันทนาการ พื้นที่ให้บริการ wi-fi ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาย่อยมหาวิทยาลัยพะเยา(อาคารเรียนรวมหลังเก่าหรือตึกPKY) ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยมหาวิทยาลัยพะเยา(อาคารเรียนรวมหลังใหม่หรือตึกCE) ไปรษณีย์ สาขาย่อยมหาวิทยาลัยพะเยา(อาคารสำนักงานอธิการบดี) ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพะเยา สนามกีฬา สระว่ายน้ำ ห้องบริการคอมพิวเตอร์
      • หอพักนิสิต
      เนื่องจากมหาวิทยาลัยพะเยามีนโยบายรับนิสิตพื้นที่ต่างๆ ทั้งในเขตพื้นที่ให้บริการและนอกพื้นที่ให้บริการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยควรมีพอพักให้นิสิตที่ไม่สะดวกในเรื่องการเดินทางมาศึกษาโดยมหาวิทยาลัยมีหอพักไว้ให้บริการนิสิตภายในมหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย หอพักของมหาวิทยาลัยเอง และหอพักในกำกับมหาวิทยาลัย รับนิสิตได้มากกว่า 6,000 คน
      • กิจกรรมนิสิต
      มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมต่างๆให้นิสิตได้ร่วมระหว่างศึกษาเพื่อเสริมทักษะการอยู่ร่วมในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ชมรม ชุมนุม กิจกรรมสาขา งานกีฬาต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น กิจกรรมส่วนกลาง โดย องค์การนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา(อ.มพ.)เป็นผู้ดำเนินโครงการ กิจกรรมส่วนของคณะ โดยสโมสรนิสิตแต่ละคณะทั้งหมด 14 คณะ 1วิทยาลัย กิจกรรมเลือกเสรี คือชมรม และมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ที่มีการจัดกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า กิจกรรมเวียง โดยทั้งนี้กิจกรรมเวียงแบ่งออกเป็น 6เวียง คือ เวียงกาหลวง เวียงจอมทอง เวียงบัว เวียงเชียงแรง เวียงน้ำเต้า และเวียงลอ ทั้งนี้เวียงคือระบบการปกครองหนึ่งซึ่งครั้งอดีต อาณาจักรภูกาม

      ประเพณี

      • First Step Camp
      เป็นกิจกกรรมแรกของการก้าวสู่มหาวิทยาลัยของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง โดยจะมีการกล่าวต้อนรับของผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ กิจกรรมการต้อนรับและแสดงของนิสิตรุ่นพี่ โดยมีองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา(อ.มพ.)เป็นผู้ดำเนินโครงการ ร่วมกับสภานิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา (ส.มพ.)และนิสิตรุ่นพี่จาก 14คณะ 1วิทยาลัย
      • กิจกรรมไหว้ครู
      จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ของทุกปี เพื่อให้นิสิตได้ระลึกถึงพระคุณครูอาจารย์ นอกจากนี่ยังมีกิจกกรรมการมอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตเพื่อเป็นกำลังใจในการศึกษาอีกด้วย
      • วันสถาปนามหาวิทยาลัยพะเยา
      วันที่ 17 กรกฎาคม 2553 ถือเป็นวันมหามงคล เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา จึงถือว่า วันที่ 17 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีกิจกรรมและการแสดงหลายอย่างในวันดังกล่าวในทุกปี
      • ประเพณีเดินขึ้นมอ
      กิจกรรมเดินเข้ามหาวิทยาลัยนี้เป็นกิจกรรมที่สานต่อประเพณีอันดีงาม โดยการนำชื่อของเวียงแต่โบราณมาใช้เป็นชื่อของกลุ่มนิสิตที่ดำเนินกิจกรรม เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชุมชนในท้องถิ่นจังหวัดพะเยา นำเอาอัตลักษณ์มาประยุกต์เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ก่อเกิดประโยชน์ต่อไป ซึ่งแต่ละเวียงก็จะมีรูปแบบการจัดขบวนที่แตกต่างกันตามปรัชญาของเวียง โดยเน้นศิลปวัฒนธรรมทางล้านนา หลังจากนั้นนิสิตชั้นปี 1 ทั้ง 6 เวียง เข้าร่วมพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และมีงานแสงสี เสียง ซึ่งจัดในช่วงเดือน กรกฎาคมของทุกปี

    • ยาว(พะเยา)ได้ปกคตรองในระบอบนี้ และทั้งนี้ยังมี สภานิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา(ส.มพ.)เป็นผู้ดูแล รักษาสิทธิ ชีวิตความเป็นอยู่ของนิสิตภายในมหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย

    วิทยาลัย
    วิทยาเขต
    โรงเรียน